หลักการเหตุผล และ วัตถุประสงค์โครงการ
การทำสวนชาเมี่ยง หรือ ชาอัสสัม ในปัจจุบันมีปริมาณลดลงทั้งที่เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติทางยา และปลูกได้แบบไม่ทำลายป่าเพราะต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ ต่างจากไร่ชาทั่วไปที่ต้องโค่นป่าก่อนปลูก ผู้วิจัยจึงเห็นพ้องในการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาจากต้นเมี่ยง ประกอบกับแนวโน้มการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่หันเหความสนใจมาสู่ธรรมชาติ การเกษตรและวิถีชีวิตของชุมชน ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความจำเป็นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งต้องศึกษาการสื่อความหมายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย เพื่อรองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวประสานเข้ากับแนวคิดการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้านและสมาชิกในชุมชนร่วมกันสร้างเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อสร้างสรรค์ให้ชุมชนเรือง อ.เมือง จ.น่าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่า โดยดำเนินโครงการในพื้นที่ชุมชนบ้านตาแวนและบ้านศรีนาป่าน ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ ถึง ปลายน้ำ กล่าวคือ เส้นทางท่องเที่ยวชาเมี่ยง เริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์อนุบาลต้นกล้าถึงศูนย์เรียนรู้แปรรูปชาเมี่ยง เผยแพร่มรดกภูมิปัญญาสวนชาเมี่ยงผ่านป้ายสื่อความหมายบนเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ร่วมปลูกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมชาเมี่ยงและสืบสานมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยไม่ให้หล่นหายไปตามกาลเวลา ทั้งยังเป็นการวางพื้นฐานที่สามารถสานต่อการพัฒนาในประเด็นสำคัญของประเทศในระยะต่อไปที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้หลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำทาง แนวคิดการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

คณะผู้จัดทำ
อาจารย์อลิษา อินจันทร์
หัวหน้าโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร ลัทธิ์ถีระสุวรรณ
ที่ปรึกษาโครงการ