ขั้นตอนการแปรรูปเมี่ยงอม
1. กำกล้อง เตรียมตอก ไว้เป็นมัดๆ มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดย ตอกขนาดใหญ่หรือตอกยาว จะมัดใบชาที่เก็บมาจากต้น ก่อนที่จะใช้ตอกเล็กมัดเป็นแหลบ โดย ใบชา 1 กิโลจะแบ่งเป็นมัดได้ประมาณ 3 มัด ถ้ามัดขนาดเล็กจะมัดได้ประมาณ 5 มัด

2. กำเมี่ยง เอามัดใบชามานึ่ง ตั้งหม้อนึ่งให้เดือดจนมีไอน้ำเดือดจัดเต็มภาชนะนึ่ง จากนั้น นำใบชาลงนึ่ง หากนำใบชาลงนึ่งตั้งแต่น้ำยังไม่เดือดจะทำให้ได้ใบเมี่ยงที่แข็งกระด้างและมีสีแดง รสชาติไม่อร่อย ไม่สามารถนำไปขายได้ ใช้เวลานึ่งประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ขึ้นอยู่กับความแก่อ่อนของใบชาที่นำมานึ่ง หากเป็นใบชาที่แก่จัด ให้นึ่งประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง หากเป็นใบชาอ่อนให้นึ่ง ราว 1 ชั่วโมง 20 นาที นอกจากความแก่ของใบชาแล้ว ยังดูปริมาณใบชาในไหนึ่ง หากมีปริมาณมาก ให้เพิ่มเวลานึ่ง หากมีปริมาณน้อยให้ลดเวลาลง โดย 1 ไหนึ่ง บรรจุได้สูงสุด 140 มัด หากมีจำนวนใบชาน้อย ให้เลือกใช้ภาชนะ ขนาดเล็กลงในการนึ่ง แบ่งเป็น 3 ขนาด เล็กนึ่งปริมาณไม่เกิน 100 มัด กลาง 70-130 มัด ใหญ่ มากกว่า 100 มัด

3. คัดเลือกและดึงก้านใบ ที่มีขนาดใหญ่ออก หากนึ่งไม่ได้ที่ ใบเมี่ยงจะยังมีกลิ่นฉุนและดึงก้านออกยาก หากนึ่งได้ที่จะหอมละมุน **เคล็ดลับในการทำให้ใ บเมี่ยงนุ่ม คือการนึ่งและการหมักใบเมี่ยง**
( ใบเมี่ยงและใบชานั้นเป็น พืชชนิดเดียวกันโดยใบอ่อนจะนำไปทำชา ใบแก่จะนำไปทำใบเมี่ยงสมัยก่อนนั้น มีการนำใบเมี่ยงไปแลกกับข้าวเนื่องจากบริเวณนี้ไม่เอื้อต่อการทำนา มีแมลงศัตรูพืชมาก จึงใช้ใบเมี่ยงในการแลกข้าว ถึงกับมีการเปรียบเทียบใบเมี่ยงว่าเป็น ใบเงินใบทอง สมัยก่อนมีเพียงเมี่ยงอม เป็นอาหารว่าง อมตอนทำงาน มีคำกล่าวว่า หากไม่มีเมี่ยง ไว้อมระหว่างงานจะทำให้ทำงานไม่นาน ไม่มีความสุขในการทำงาน )
4. ทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นนำเมี่ยงที่ได้มาทับด้วยตะกร้าพอให้มีอากาศไหลผ่าน ระบายได้ดีเพื่อให้เกิดรา โดยฤดูร้อน จะใช้เวลาประมาณ 2 คืน สังเกตที่ราออกหัวนิดๆ จะกลายเป็นเมี่ยงเหลือง รสชาติฝาด และใช้เวลาประมาณ 3 คืนขึ้นไป กลายเป็นเมี่ยงดำหรือสังเกตจากราออกทั่ว รสชาติจะกลมกล่อม
5. หมักน้ำสะอาด น้ำมีผลต่อรสชาติ ใช้ถังพลาสติกในการหมักเพื่อให้ปิดได้มิดชิด เติมน้ำสะอาด และ ใส่เกลือเล็กน้อย เพื่อให้เมี่ยงนุ่มมากขึ้น ให้ระวังกลิ่นคลอลีนที่ติดมากับน้ำจะทำให้มีกลิ่นติดในใบเมี่ยงได้ ระยะเวลาในการหมักตั้งแต่ 5 วัน – 1 ปี อยู่ที่การดูแลระวังห้ามอากาศเข้า หากเกิดราขาว เมี่ยงจะเหม็น
6. ปรุงตามใจชอบ ปัจจุบันมีเมี่ยงหลายแบบ ชื่อเรียกขึ้นอยู่กับใส้ของเมี่ยง มีทั้ง เมี่ยงมัน เมี่ยงหวาน เมี่ยงขิง เมี่ยงมะกอก เมี่ยงมะพร้าว เมี่ยงตาล เมี่ยงมะพร้าวคั่ว(เมี่ยงหมี่) เป็นต้น ทั้งหมดนี่อยู่ที่การปรุงแต่งของเมี่ยงแต่ละที่