ภูมิปัญญาจักสาน
นอกจากการปลูกเมี่ยงแล้วนั้น ระหว่างลงพื้นที่สำรวจชุมชนเรือง คณะผู้จัดทำโครงการได้พบภูมิปัญญามากมาย เช่น การจักสานและงานหัตถกรรม สิ่งทอ เครื่องเงิน เกลือสปา ซอพื้นบ้าน และ พิธีกรรมทางศาสนา แต่ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับต้นเมี่ยงมากที่สุด คือ ภูมิปัญญาจักสานสำหรับใช้หมักเมี่ยงและบรรจุผลิตภัณฑ์เมี่ยง ที่เรียกว่า “การนุ่งเมี่ยงด้วยไม้ไผ่” แบ่งเป็นการนุ่งด้วยตอกใหญ่และตอกเล็ก โดยที่ การนุ่งเมี่ยงด้วยตอกเส้นใหญ่นำมามัดใบเมี่ยงสดที่เก็บจากต้น ในขณะที่ ตอกเส้นเล็ก นำมามัดใบเมี่ยงนึ่ง

ชาวบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน นิยมใช้ไผ่ซางในการจักสาน โดยนำไม้ไผ่มาผ่าซีกแล้วเหลาเป็นซี่เล็กๆ เรียกว่า ตอกไม้ไผ่ จากนั้นนำตอกไปแช่น้ำเพื่อให้มีความอ่อนนุ่มประมาณ 1-2 วัน ป้องกันไม่ให้ตอกแห้งหรือหักขณะจักตอก แล้วนำไปสานในขณะเปียกขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ส่วนใหญ่นิยมสานตะกร้าไม้ไผ่ ภาษาล้านนาเรียกว่า ก๋วย โดยมีตอกไม้ไผ่ขดเป็นวงไว้สานแนวขวาง และมีตอกไม้ไผ่เส้นตรงเป็นตอกยืนสำหรับสานแนวตรง ในส่วนของหูตะกร้า ปราชญ์ชาวบ้าน พ่อวงศ์ กาวิน กล่าวว่า ได้ปรับใช้สายรัดพลาสติก PP ซึ่งมีหลากหลายสี เพื่อเพิ่มความสวยงามและคงทนให้กับตะกร้า ก๋วยนี้จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการเก็บใบเมี่ยงสด หรือ ขั้นตอนการทับตะกร้าหลังจากผึ่งเมี่ยงนึ่งให้เย็นลงแล้ว (ดังรูป) เพื่อหมักเมี่ยงนึ่งไว้ในสภาวะไร้อากาศเพื่อให้เกิดราขาวก่อนนำไปหมักน้ำสะอาด วิธีการหมักเมี่ยงนึ่งแบบใช้รา เป็นที่นิยมมากในจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ นอกจากนั้นปราชญ์ชาวบ้านนิยมจักสานตอกเก็บไว้เป็นเส้นขายส่งโดย 1 เส้น มีจำนวน 10 ทบ สามารถนำไปขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ตามต้องการ เช่น หมวก พัด หรืองานประดิดประดอยต่างๆ